เสียดท้อง

“อาการเสียดท้อง” พอได้ยินชื่อนี้คนเลี้ยงม้าส่วนใหญ่จะหนาว เพราะเป็นปัญหาที่ถึงตายได้ ใครที่ไม่ตกใจ แล้วพูดอย่างภูมิใจว่า “โอ้ย ไม่กลัวหรอกโรคนี้ ที่คอกเจอมาเยอะแล้ว 2-3 เดือนก็มีที” สิ่งที่ควรทำคือพิจารณาตัวเองได้แล้ว เพราะมันเป็นปัญหาที่เราสร้างเอง ม้าไม่ควรเกิดอาการเสียดเลย ถ้าเลี้ยงอย่างถูกต้องเรื่องเกี่ยวกับม้าเสียดท้อง เป็นเรื่องที่มีความเข้าใจผิดกันไปต่างต่างนานา ทั้งในเรื่องของสาเหตุของโรค อาการม้าเมื่อเสียดท้อง และวิธีการรักษาที่ถูกต้อง มีคำถามมากมายเกิดขึ้นว่าสิ่งใดถูก สิ่งใดผิด สิ่งใดควร หรือไม่ควรทำเมื่อม้าเกิดอาการเสียดท้อง และควรป้องกันอย่างไร บทความนี้จะรวบรวมคำถามที่พบบ่อยในเรื่องเกียวกับภาวะเสียดท้องในม้า นอกจากนี้การทำความเข้าใจเกี่ยวกับ ระบบย่อยอาหารของม้า จะช่วยให้เราเข้าใจสาเหตของการเสียดท้องได้ดีขึ้นด้วย ม้าเสียดท้องคืออะไร? มีอาการเป็นอย่างไรบ้าง?ม้าเสียดท้อง (Colic) หมายถึง ภาวะที่ม้ามีอาการปวดท้องไม่สบายท้อง สาเหตุของการเสียดท้องมีได้หลากหลาย ภาวะเสียดท้องถือว่ามีความรุนแรงมาก หากไม่ได้รับการวินิจฉัย และรักษาที่ถูกต้องและรวดเร็ว โรคจะรุนแรงถึงชีวิตได้อาการเริ่มแรก ก่อนเกิดอาการเสียดชัดเจน ได้แก่ ม้ากินอาหารน้อยลงหรือไม่กินเลย กินน้ำในปริมาณน้อยลงหรือไม่เพียงพอ ขี้ม้าน้อยลง และเริ่มเปลี่ยนลักษณะ เช่น แห้ง เป็นเม็ดกระสุน มีเมือก  มีทราย/สิ่งแปลกปลอมปน หรือขี้เหลว ในสายตาของสัตวแพทย์ ช่วงนี้เรียกว่าเสียดท้องแล้ว  หากมีการจัดการที่ดี มีการจดบันทึกการกินอาหาร กินน้ำ และปริมาณขี้ม้ารายวันของม้าแต่ละตัว จะช่วยให้สังเกตุความผิดปกติได้ตั้งแต่เริ่มแรก ลดความรุนแรงของการเสียดท้องได้

ลักษณะของขี้ม้า


อาการที่จะตรวจพบได้เมื่อม้าเสียดท้อง
 คือม้าจะมีอาการซึมไม่กินอาหาร คุ้ยพื้น มองท้อง ล้มตัวนอน ผลุดลุกขึ้น – ลง อาจทำท่าเบ่งจะปัสสาวะ หรือพยายามเบ่งอุจจาระ ถ้ารุนแรงมากอาจล้มนอน ดิ้น ทุรนทุราย โดยความรุนแรงของอาการขึ้นอยู่กับบริเวณที่เป็นสาเหตุของการเสียด และความทนของม้าแต่ละตัว เสียดท้องเกิดจากสาเหตุอะไรบ้าง?แต่เดิมเชื่อว่าม้าเสียดเนื่องจากให้กินรำเป็นอาหารมากเกินไป ความเชื่อนี้ถูกถ่ายทอดต่อๆ กันมา แต่ในความเป็นจริงแล้วสาเหตุไม่ใช่แค่รำ ม้าเสียดท้อง ส่วนใหญ่เกิดเนื่องจากการจัดการที่ไม่ดี ไม่เข้าใจธรรมชาติการกินของม้า และการสร้างภาวะเครียดให้แก่ม้าอยู่เสมอ การให้อาหารที่ผิดวิธีถือเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุดที่เหนี่ยวนำให้เกิดการเสียดท้องได้ ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้ม้ามีอาการเสียดท้องการให้อาหารข้นสองมื้อเช้า-เย็น และการให้อาหารข้นปริมาณมากไปในแต่ละมื้อการให้อาหารหยาบที่ไม่เพียงพอ หรือให้อาหารหยาบที่เป็นหญ้าสดอ่อนเกินไปอาหารที่ให้มีการปนเปื้อนของเชื้อรามีการเปลี่ยนอาหารกระทันหันม้ากินน้ำน้อย (อาจเนื่องมาจากโรคแผลในกระเพาะอาหาร หรือให้น้ำม้าน้อยไป)ฟันม้าคมบดเคี้ยวอาหารได้ไม่ดีสิ่งแปลกปลอมอุดตันลำไส้ เช่น ทราย ก้อนกรวด พยาธิมีพยาธิ ไม่ถ่ายพยาธิ ไม่เก็บขี้ม้าทำให้พยาธิวนเวียนอยู่ในคอกและตัวม้าไม่จบสิ้นการเลี้ยงม้าขังคอกตลอดเวลา ไม่ปล่อยแปลงให้ออกกำลังกายความเครียด ที่เกิดจากการฝึกซ้อม การว่ายน้ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเลี้ยงม้าที่ผิดวิธี ตีและดุม้าตลอดเวลา

ปกติแล้วม้ามีโอกาสเสียดท้องบ่อยแค่ไหน

โอกาสในการเสียดท้องของม้า ขึ้นอยู่กับการจัดการเป็นหลัก หากมีการให้อาหารที่เหมาะสมแล้วจะพบการเสียดท้องน้อยมาก หรือไม่พบเลย (มีกรณีที่คอกม้าที่เคยมีปัญหาเรื่องม้าเสียดท้องอยู่เป็นประจำ เดือนละ 3-4 ตัว มีอัตราการสูญเสียสูงมาก แต่เมื่อปรับเปลี่ยนการจัดการการให้อาหาร และการปล่อยแปลงที่ดีแล้ว พบว่าหลังจากนั้นแทบไม่มีม้าเสียดอีกเลย)

เมื่อรักษาหายแล้วมีโอกาสกลับมาเป็นได้อีกหรือไม่

ม้าที่เคยเสียดแล้วไม่ได้หมายความว่าจะเสียดได้อีกบ่อยๆ เพราะการเสียดท้องขึ้นอยู่กับการจัดการการให้อาหารเป็นหลัก หากรักษาหายแล้วแต่ไม่มีการปรับปรุงทางด้านการจัดการให้มีความเหมาะสมมากขึ้น ยังคงทำเหมือนที่ผ่านมา โอกาสในการกลับมาเสียดท้องอีกครั้งย่อมมีสูงตามไปด้วย

สิ่งที่ไม่ควรทำในการดูแลม้าเสียด

  • อย่านิ่งนอนใจ ไม่ควรฉีดยาแก้ปวดแล้วปล่อยม้าไว้ในคอกแล้วก็ไปนอน เพราะเมื่อยาหมดฤทธิ์ใน 6 ชั่วโมง ม้าจะอาการแย่ลง เมื่อเราตื่นมาเราจะพบปัญหาที่ใหญ่ขึ้น
  • เมื่อฉีดยาไปแล้วม้ามีอาการอีก ก็ไม่ควรฉีดยาซ้ำเข้าไปอีก เพราะการฉีดยาไม่ใช่การรักษาอาการเสียด ยาแก้ปวดเพียงแต่ลดอาการปวด ซ้ำร้ายยังกลบอาการทำให้สัตวแพทย์ไม่สามารถประเมินอาการได้อย่างมีประสิทธิภาพ
  • อย่าเอาสายยางจ่อก้นม้าแล้วเปิดน้ำสวนเข้าไป เพราะจะทำให้ไส้แตกได้และไม่ได้แก้ปัญหาที่สาเหตุเลย
  • อย่าล้วงก้นม้าเองเพื่อแก้ไข เพราะถ้าลำไส้อุดตัน มันจะตันที่ห่างจากทวารหนักม้าไปอย่างน้อย 3-4 เมตร ไม่มีทางที่เราจะแก้ไขการอุดตันได้จากการล้วง ที่สัตวแพทย์ล้วงก้นม้าก็เพื่อประเมินสภาพภายในของม้าเท่านั้น
  • อย่าฉีดยาหรือให้ยาเพื่อแก้ท้องเสีย อย่าฉีดยาที่กระตุ้นการบีบตัวของลำไส้ อย่าฉีดยาขับปัสสาวะเพราะม้าทำท่าเบ่งปัสสาวะ (การทำท่าเบ่งเกิดเพราะม้าปวดท้อง ไม่ใช่ปัสสาวะไม่ออก) สรุปว่าอย่าฉีดยาและให้ยาเอง นอกจากที่สัตวแพทย์กำหนด
  • อย่ากรอกยาสารพัดเข้าทางปาก หรือท่อสอดจมูกเองหรือนอกเหนือคำสั่งของสัตวแพทย์ เพราะถ้าเป็นการอุดตันของลำไส้ส่วนหน้า ในกระเพาะจะมีน้ำอยู่ และถ้ามีน้ำนวนมาก กระเพาะอาหารอาจแตกได้

การระวัง และรักษาปัญหาเสียดท้อง

ปัญหาม้าเสียดท้อง เป็นปัญหาทางการจัดการ เพราะฉะนั้นเป็นสิ่งที่ป้องกันได้หากมีการจัดการที่เหมาะสม โดยคำนึงถึงธรรมชาติของม้า ทั้งในแง่ กายวิภาค สรีระ พฤติกรรม และสภาพจิตใจ

  1. ใช้หลักการในอาหารม้าที่ถูกต้อง ไม่ควรให้อาหาร 2 มื้อ เช้า-เย็น มือละมากกว่า 2 กิโลกรัม
  2. เลือกอาหารที่มีความหยาบสูง และอย่าให้ขาดอาหารหยาบ (ฟาง/หญ้า/หญ้าแห้ง)
  3. ถ่ายพยาธิ ทุก 2 เดือน
  4. ตรวจเช็คเพื่อตะไบฟันทุก 6 เดือน – 1 ปี
  5. แหล่งน้ำต้องสะอาด มีให้ตลอดเวลา ไม่มีกลิ่น ไม่มีคลอรีน
  6. สำรวจม้า และขี้ม้าทุกวัน
  7. ให้ม้าได้ปล่อยแปลง ออกกำลังทุกวัน

ที่สำคัญ เมื่อม้ามีอาการเสียดท้อง ควรปรึกษาสัตวแพทย์เสมอ “เพราะม้าต้องการหมอ”