ม้าควรทำวัคซีนอะไรบ้าง?
1. วัคซีนโรคบาดทะยัก (Tetanus toxoid)
โรคบาดทะยักเป็นโรคที่พบได้ทั่วโลก เป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อ Clostridium tetani มักติดเข้าทางบาดแผล สปอร์ของเชื้อนี้จะอยู่ในดิน และสามารถพบเชื้อนี้ได้ในขี้ม้า คอกที่ไม่เก็บขี้ม้าก็จะทำให้ม้ามีโอกาสติดเชื้อนี้ได้มากขึ้น
2. วัคซีนโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ (Japanese encephalitis)
เป็นโรคทางระบบประสาท เชื้อไข้สมองอักเสบจะโจมตีที่ระบบประสาทส่วนกลาง (สมอง) ม้าที่เป็นโรคนี้จะไม่ถ่ายทอดให้กับม้าตัวอื่นๆ ในคอก การติดโรคในม้ามักจะติดจากแหล่งอื่น เช่น หมู ค้างคาว และนกน้ำ เป็นต้น (ม้าและคน จัดเป็น Dead end host ของโรคนี้) โรคนี้นำโรคโดยยุงด้วย
3. วัคซีนไข้หวัด (Equine Influenza)
โรคนี้จะมีอาการที่ระบบทางเดินหายใจเป็นหลัก วัคซีนจะช่วยลดอาการของโรคได้ แต่ไม่สามารถป้องกันการแพร่เชื้อจากม้าที่เป็นแล้วได้ โรคนี้มักจะพบว่ามีความเกี่ยวข้องกับการเคลื่อนย้ายม้า หรือการใช้งานม้าที่ทำให้ม้าเกิดความเครียดมากขึ้น
4. วัคซีนเฮอร์ปีส์ไวรัส (Equine Herpes virus)
โรคนี้ก่อให้เกิดปัญหาในระบบทางเดินหายใจ ระบบสืบพันธุ์ และระบบประสาท ทำให้เกิดโรคทางเดินหายใจในลูกม้าได้ แต่ไม่ได้ก่อปัญหามากนัก แม่ม้าที่ท้องหากติดเชื้อนี้จะมีโอกาสแท้งได้ 30-70% และเมื่อติดเชื้อนี้จะทำให้เกิดอาการทางระบบประสาทได้ 90% และมีอัตราการตายจากอาการทางระบบประสาทได้สูงถึง 60%
การทำวัคซีนครั้งแรกในม้าต้องทำอย่างไร?
การทำวัคซีนครั้งแรกในม้าต้องทำ 2 เข็มติดต่อกัน โดยเข็มที่ 2 ฉีดหลังจากทำเข็มแรก 1 เดือน สาเหตุที่ต้องทำเช่นนี้เนื่องจากการฉีดวัคซีนครั้งแรกนี้เหมือนเป็นชุด Starter ที่กระตุ้นให้เกิดการสร้างเซลล์ในระบบภูมิคุ้มกันที่จดจำเชื้อนั้นๆ ไว้ การทำวัคซีนหลังจากการทำวัคซีนชุดแรกก็จะเว้นระยะห่างไปตามชนิดวัคซีน
วัคซีนแต่ละตัวฉีดซ้ำปีละครั้งเหมือนกันหมดหรือไม่?
หลังจากที่ทำวัคซีนชุดแรกเรียบร้อยแล้ว จะต้องกระตุ้นภูมิคุ้มกันโดยการฉีดซ้ำ โดยวัคซีนบาดทะยัก และวัคซีนเยื่อหุ้มสมองอักเสบจะฉีดซ้ำปีละ 1 ครั้ง ในขณะที่วัคซีนโรคไข้หวัดและเฮอร์ปีส์ไวรัสควรฉีดอย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง (ทุก 6 เดือน) และสำหรับฟาร์มม้าแข่งที่มีการนำม้าไปแข่งเป็นประจำ ความเสี่ยงต่อโรคไข้หวัดและเฮอร์ปีส์ก็จะมากกว่าปกติ จึงควรทำวัคซีนอย่างน้อยปีละ 4 คร้ง (ทุก 3 เดือน) เพราะวัคซีนของโรคนี้จะกระตุ้นให้เกิดภูมิคุ้มกันหลังจากฉีดไปได้เพียง 8 สัปดาห์เท่านั้น
มีคนบอกให้ทำวัคซีนไข้ขาหลังอ่อน วัคซีนนี้มันคืออะไร?
โรคขาหลังอ่อน เกิดจากเชื้อเฮอร์ปีส์ไวรัส (EHV-4/1) เชื้อเฮอร์ปีส์ไวรัสทำให้เกิดอาการทางระบบทางเดินหายใจ ระบบสืบพันธุ์ และระบบประสาท อาการทางระบบประสาทที่พบบ่อยคือขาหลังอ่อนแรง จึงเป็นที่มาของชื่อเรียกว่า โรคไข้ขาหลังอ่อน เวลาทำวัคซีนก็มักจะเรียกว่าการทำวัคซีนไข้ขาหลังอ่อน แต่ความจริงคือวัคซีนไม่สามารถป้องกันอาการทางระบบประสาทได้ สามารถป้องกันอาการทางระบบทางเดินหายใจ และระบบสืบพันธุ์ได้เท่านั้น แต่การทำวัคซีนก็ช่วยลดโอกาสในการติดเชื้อเข้าสู่ร่างกาย และลดจำนวนเชื้อในสิ่งแวดล้อมที่ออกมาจากตัวม้าได้
ถ้าเช่นนั้นเราไม่จำเป็นต้องทำวัคซีนไข้ขาหลังอ่อนใช่หรือไม่?
ถึงแม้ว่าวัคซีนเฮอร์ปีส์ไวรัสจะไม่สามารถป้องกันอาการทางระบบประสาทได้โดยตรง แต่การทำวัคซีนก็ลดโอกาสในการแพร่กระจายเชื้อ ลดจำนวนเชื้อในสิ่งแวดล้อมได้ และหากติดเชื้ออาการก็จะไม่รุนแรง เพราะเชื้อเฮอร์ปีส์จะเข้าสู่ร่างกายม้าทางการหายใจเป็นหลัก และจะไปโจมตีที่ปอด การทำวัคซีนจะช่วยให้อาการที่ปอดไม่รุนแรงนัก เมื่ออาการไม่รุนแรง ก็จะลดจำนวนเชื้อที่จะกระจายจากปอดไปยังส่วนอื่นได้ ดังนั้นการทำวัคซีนจึงยังคงเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดสำหรับการป้องกันอาการดังกล่าว
วัคซีนบาดทะยักสำหรับคนสามารถนำมาฉีดในม้าได้หรือไม่?
ยังไม่มีงานวิจัยที่ทดลองว่า การใช้วัคซีนบาดทะยักของคนฉีดมาฉีดในม้านั้น ให้ผลในการกระตุ้นภูมิคุ้มกันในม้าได้อย่างเพียงพอหรือไม่ หรือไม่ได้ผลเลย เพราะฉะนั้นเพื่อความปลอดภัยควรใช้วัคซีนบาดทะยักสำหรับม้าเท่านั้น